สถิติ
เปิดเมื่อ29/03/2013
อัพเดท18/05/2013
ผู้เข้าชม23096
แสดงหน้า31810
ปฎิทิน
June 2023
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
    
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 




“โลกทิพย์” ฉบับที่ 141 ปีที่ 8 เดือนพฤศจิกายน 2531

อ่าน 443
โดยทองทิว สุวรรณทัต
“โลกทิพย์” ฉบับที่ 141  ปีที่ 8 เดือนพฤศจิกายน 2531
คุณหมออาจินต์ บุญยเกตุ ต่อสู้กับวิญญาณที่ภูเก็ต
 
เมื่อครั้งคุณหลวงสนั่นวรเวช หัวหน้ากองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ไปตรวจราชการที่โรงพยาบาลภูเก็ต (โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) เห็นความเป็นอยู่ของคุณหมออาจินต์และแพทย์ ซึ่งได้เพิ่มมาอีกคนคือ แพทย์หญิงทวีศิริ บำรุงสวัสดิ์ ซึ่งต้องฝากให้อาศัยอยู่กับคหบดีท่านหนึ่งในเมือง คุณหลวงสนั่นฯ เลยรับปากจะหางบประมาณมาสร้างบ้านพักแพทย์ให้ที่โรงพยาบาลนี้
ประจวบกับท่านเจ้าคุณบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบินไปตรวจราชการที่ภูเก็ตด้วย เมื่อเห็นสภาพของโรงพยาบาล ก็สั่งให้ทางกรมการแพทย์จัดสรรงบประมาณนี้อย่างรีบด่วน
และอีกไม่กี่เดือนต่อมา ทางโรงพยาบาลภูเก็ตก็ได้งบประมาณสร้างบ้านพักแพทย์สำหรับผู้อำนวยการ บ้านพักแพทย์ประจำโรงพยาบาล เรือนคนงาน ซ่อมแซมหอพักผู้ป่วย โรงพยาบาลภูเก็ตก็ดูดีขึ้นตามลำดับ โดยขยายตึกตรวจโรคภายนอก ห้องผ่าตัด ซ่อมหอพักผู้ป่วย
 
บ้านใหม่ของผู้อำนวยการ
สถานที่จะก่อสร้างบ้านพักผู้อำนวยการนั้น มีที่อยู่แห่งเดียวที่เหมาะสม คือ ด้านหน้าสุดของโรงพยาบาล ชิดกับขอบรั้วทางทิศตะวันออก เจ้าหน้าที่กรมและส่วนจังหวัดเห็นว่าเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นที่ว่าง มีเนินเตี้ยๆ ฝนตกมากน้ำก็ไม่ท่วม
การสร้างบ้านพักในความควบคุมของจังหวัดจึงได้เริ่มขึ้น โดยสร้างเป็นบ้านใต้ถุนสูง แบบบ้านพักแพทย์ของกรมการแพทย์ทั่วไป ใต้ถุนบ้านเทปูนซีเมนต์หนาเอาไว้สำหรับจอดรถ
การสร้างใช้เวลาไม่เกินหกเดือนก็เรียบร้อย หน้าบ้านมีสนามแบดมินตันเอาไว้ออกกำลังกาย และสมานสามัคคีระหว่างข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน แต่บ้านนี้ไม่ได้ทาสีเพราะงบประมาณหมดเสียก่อน
พอบ้านเสร็จ คุณหมออาจินต์ก็ย้ายครอบครัวมาอยู่และนิมนต์พระวัดโฆษิตฯ มาทำบุญขึ้นบ้านใหม่
คุณหมอให้ภรรยาและบุตรอยู่ห้องต่างหาก ส่วนคุณหมอนอนอีกห้องหนึ่ง เพราะถูกปลุกในยามดึกเสมอ เกรงภรรยาและบุตรจะพลอยต้องตื่นไปด้วย
 
อยู่ ๆ เดินไม่ได้ !
และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คุณหมออาจินต์เล่าว่า
“หนึ่งปีให้หลัง หรือประมาณนั้น วันร้ายคืนร้ายก็มาเยือนผมอีก
กล่าวคือเช้าวันหนึ่ง ผมตื่นนอนแล้ว ลุกขึ้นจะไปห้องน้ำตามปกติ แล้วจะเดินย่องไปดูลูกสาวคนแรกที่นอนอยู่กับแม่เขาอีกห้องหนึ่ง
พอลุกขึ้นก็เซหกล้ม เอามือยันไว้ นึกว่างัวเงีย เอาใหม่ ขยี้หู ขยี้ตาเสียหน่อยแล้วลุกขึ้นจะเดินไปห้องลูก ก็ล้มอีก ทีนี้ดังโครมใหญ่ !
คุณแม่กับภรรยาผมก็ออกมาดู ถามว่า เป็นอะไร ? หน้ามืดรึ ?
ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร แต่ขาสองข้างทำไมไม่มีแรงจะยืน
ผมลองยันตัวขึ้นจะยืนก็ล้มอีก ทีนี้รู้เลยว่า ขาทั้งสองของผม ตั้งแต่บั้นเอวลงไปเป็นอัมพฤกษ์เสียแล้ว ! โดยไม่รู้สาเหตุ ไม่รู้จริงๆ
เมื่อวานเย็นนี้ก็ยังเล่นแบดมินตันกับเพื่อนข้าราชการในจังหวัดที่โรงพยาบาล ก่อนนอนก็ยังดีๆ พอเช้าขึ้นมาทำไมเป็นอย่างนี้
ผมก็ให้เขาไปเชิญคุณหมอพิทักษ์และคุณหมอทวีศิริมาช่วยตรวจอาการและระบบประสาทว่าเป็นอะไรที่ไหน ผลออกมาว่า ความรู้สึกส่วนล่างตั้งแต่สะโพกลงไปเสีย รวมทั้งประสาทสำหรับการเคลื่อนไหวด้วย เรื่องมันก็ใหญ่ ต่อไปอัมพาตก็จะเล่นงานผม สองหมอก็ช่วยกันวางยาฉีดหยูกฉีดยา
จนวันที่สองก็ไม่ทุเลาขึ้น จึงรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งท่านกรุณามาเยี่ยม แล้วออกไปปรึกษากับคุณหมอพิทักษ์อยู่พักใหญ่ ท่านก็กลับ
ผมก็เป็นห่วงงาน ห่วงคนไข้ คุณหมอพิทักษ์ท่านชำนาญทางโรคเด็ก คุณหมอทวีศิริก็สำเร็จใหม่ ยังต้องการพี่เลี้ยง ยังต้องการคำแนะนำ ผมก็มานอนแซ่วอยู่เฉย ๆ ยกขาได้ หยิกเจ็บแต่ไม่มีแรงจะยืน แล้วจะไปทำงานได้อย่างไร ?
อีกสองวันต่อมา ก็ได้รับโทรเลขจากคุณหลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ว่า “ให้ขึ้นไปกรุงเทพฯ ด่วนที่สุด จัดรถพยาบาลไว้รับที่ดอนเมืองแล้ว
 
อดีตผู้อำนวยการป่วยทุกคน
คุณหมออาจินต์เล่าต่อไปว่า
“ผมเข้าใจว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านขุนจรรยาวิเศษและคุณหมอพิทักษ์ที่ออกมาหารือกันนั้นก็คือจะส่งตัวผมไปกรุงเทพฯ โดยโทรเลขบอกมาทางกรมการแพทย์ ท่านอธิบดีในขณะนั้นท่านห่วงมาก เพราะที่ภูเก็ตนี่แพทย์ผู้อำนวยการทุกคนมีอาการป่วยแปลกๆ ดังนี้
หมอฝรั่งคนแรกที่มาจากปีนัง ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตแตกเป็นอัมพฤกษ์ เจ้าคุณรัษฏาฯ ส่งตัวกลับไปปีนัง
คนต่อมา คุณหลวงสนั่นวรเวช หัวหน้ากองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค ตอนหลังเป็นรองอธิบดี ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการที่นี่ เกิดอาเจียนเป็นโลหิตช็อคไป ในที่สุดก็ต้องกลับมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ
คุณพระเวชฯ ผมจำสร้อยไม่ได้ (พระเวชกิจพิศาล  (เจิม ดิลกแพทย์)) เป็นบิดาของนายแพทย์จินดา ดิลกแพทย์ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเพิ่งตายที่ภูเก็ต ท่านขุนทำนุกฯ สองท่านนี้เป็นอัมพฤกษ์
คุณหมอเก้า ณ ระนอง ชื่อเดิม เบี่ยนเก้า จบแพทย์จากอังกฤษ ก็ป่วยหนักโดยไม่รู้สาเหตุ
ต่อมา ร.ท.ปอง ว่องพยาบาล ก็อัมพฤกษ์ ขาเป๋ เดินกระโผลกกระเผลกป่านนี้อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว
ต่อมาก็ผม ทำงานได้ปีเดียวก็เกิดอัมพฤกษ์ไปเฉย ๆ ดังนี้
ผู้อำนวยการถัดไปจากผมก็คือ คุณหมอสนอง กาญจนาลัย รายนี้อยู่เฉยๆ ก็อาเจียนเป็นโลหิตฟุบไป! ต้องส่งตัวกลับกรุงเทพฯ อีก ตอนนี้คงเกษียณแล้ว ก่อนเกษียณท่านเป็นแพทย์ใหญ่ประจำจังหวัด แล้วเลยมีครอบครัวจนบัดนี้
ตกลงผมก็นอนเปลขึ้นเครื่องบินมากรุงเทพฯ ตามคำสั่งของกรมการแพทย์
พอเดินทางถึงดอนเมือง รถพยาบาลที่คุณหลวงนิตย์ฯ ท่านสั่งไว้ ก็รีบไปรับตัวผมเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที
ตอนนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ปลายๆ ท่านอธิบดี หัวหน้ากอง พรรคพวก ไปเยี่ยมกันมากต่างสงสัย เพราะตรวจอะไรไม่พบสิ่งผิดปกติสักอย่าง”
 
ไปหาหลวงสุวิชานฯ
เมื่อคุณหมออาจินต์ บุญยเกตุ มานอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว วันหนึ่งคุณหลวงสนั่น ฯ ท่านไปเยี่ยมแล้วได้ปรารภเรื่องต่างๆ กับคุณน้าและญาติ ๆ ของคุณหมอว่า น่าจะลองให้ใครสักคนที่เก่ง ๆ ทางสมาธิ เข้าสมาธินั่งทางในดูซิว่ามันมีอะไรที่นั่น ? ทุกคนถึงได้เป็นอย่างนี้ ?
คุณหมออาจินต์ฟังแล้วก็หัวเราะ เพราะตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวชเรียน ยังไม่รู้จักคำว่า สมาธิ คำว่า ทางใน หรือคำว่า พลังจิตท่านไม่เชื่อถือ
แต่เมื่อญาติผู้ใหญ่จะหารือกันอย่างไรท่านก็ตามใจ ไม่ขัดขวางได้แต่นอนหัดกระดิกขาทีละข้างสองข้างไปพลางๆ
คุณน้ากับพี่สาวคนหนึ่งของคุณหมออาจินต์ได้ฟังคุณหลวงสนั่นฯ แนะนำเช่นนั้น ก็ได้ไปหาคุณหลวงสุวิชานแพทย์ที่บ้านท่านทางฝั่งธนบุรี
ส่วนคุณหมออาจินต์นั้นท่านไม่เคยไป ไม่เคยรู้เรื่องของคุณหลวงสุวิชานฯ รู้แต่เพียงว่าท่านเป็นแพทย์ผู้หนึ่ง และเป็นพลเรือตรีเท่านั้น ท่านจึงไม่สู้จะสนใจเท่าใด
(ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานแพทย์ ท่านนี้ เป็นผู้อัญเชิญ ท่านท้าวมหาพรหมลงประทับที่ โรงแรมเอราวัณ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางสมาธิเป็นเอก หาคนเปรียบมิได้ปัจจุบันท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว – ผู้เขียน)
 
ให้ทำสองอย่าง
คุณหมออาจินต์เล่าในตอนนี้ว่า
“คุณน้าและพี่สาวกลับมาหาผมที่โรงพยาบาล หลังจากได้พบคุณหลวงสุวิชานฯ แล้ว ท่านบอกว่า ไม่มีอะไรมาก ไม่ช้าก็หาย ไม่ต้องตกใจ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สถานที่ที่ก่อสร้างตั้งโรงพยาบาลภูเก็ตนั้น เดิมเป็นป่าช้าเก่าที่ฝังศพของคนจีน ภาษาจีนเรียกว่า “ฮวงซุ้ย” ทับถมกันมามากมายจนไม่มีที่จะฝังศพต่อไป
เมื่อฮวงซุ้ยเต็มแล้ว ต่อมาเจ้าคุณรัษฏานุประดิษฐ์ เจ้าเมืองขณะนั้น เห็นว่าทิ้งไว้เป็นป่าหญ้ารกชัฏอย่างนั้น ไม่มีประโยชน์อะไร ทำเลที่ดินก็สวยเป็นเนินเขาเตี้ยๆ อากาศดี ท่านจึงได้เวนคืนที่ดินนี้มาก่อสร้างเป็นโรงพยาบาล
ราษฏรในตอนนั้นก็ไม่นิยมไปรักษาตัว หมอก็ไม่มีจึงจ้างหมอฝรั่งมาจากปีนัง แต่หมอฝรั่งไปสร้างบ้านแบบฝรั่งอยู่บนเขาถัดออกไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในตอนแรก ๆ มาเกิดป่วยเอาตอนหลัง
ผมฟังแล้วงง ในเมื่อคุณหลวงสุวิชานฯ ท่านก็ไม่เคยไปโรงพยาบาลนี้เลย แต่ท่านนั่งทางในแลเห็นหมด เพราะฉะนั้นสิ่งลี้ลับ หรือวิญญาณต่าง ๆ จึงได้ปรากฏให้เห็นกันบ่อย ๆ
ส่วนที่ผมป่วยในครั้งนี้ เป็นเพราะเจ้าที่เจ้าทางเป็นหญิงจีนแก่ คนชั้นสูงในสมัยนั้นทำโทษเอา ด้วยหมออาจินต์รับงบประมาณสร้างบ้านพักแล้วก็ไปสร้างทับตรงที่ฝังศพของหญิงชราผู้นั้นพอดี โดยไม่บอกกล่าว ไม่ขออนุญาตเสียก่อน คุณหลวงสุวิชานฯ ท่านสั่งผมว่า เมื่อหายแล้วให้กลับไปทำพิธีดังต่อไปนี้
๑. ขุดซีเมนต์ที่เทใต้ถุนบ้านออก แล้วขุดดินให้กว้างวายาวสองวา ลึกสองวา มาตราส่วนของท่านเป็นวาทั้งนั้น เมื่อขุดไปจะพบสิ่งของ ของผู้ตาย ไม่ว่าจะพบอะไรให้เอาขึ้นมาทำที่อยู่ให้เขาใหม่ ขอขมาลาโทษเขาเสีย แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็จะหมดเรื่อง
๒. สำหรับตอนนี้ท่านขอให้ทำสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้เขา และบรรดาท่านทั้งหลายที่ตายไปและฝังไว้ในบริเวณที่ก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลในทุกวันนี้ พร้อมกันก็ให้สร้าง พระประจำวันองค์หนึ่งบูชา
ญาติพี่น้องของผมในกรุงเทพฯ ก็ได้ช่วยกันทำตามที่ท่านสั่ง นับแต่นั้นมาอาการขาไม่มีแรงทั้งสองข้างก็ดีขึ้น แต่ก็ได้รับการรักษาทางปัจจุบันควบคู่ไปด้วย (เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณหลวงสุวิชานฯ กำชับเสมอคือ แนะให้แก้ไขอย่างไรก็ทำไป แต่ที่หมอรักษา อยู่ก็อย่าละเลย)
ผมนอนอยู่โรงพยาบาลยี่สิบวัน โดยใช้ไม้เท้ายันเหมือนคนแก่ ครั้นอาการดีขึ้นเกือบเป็นปกติ ผมก็ออกจากโรงพยาบาลจะกลับไปภูเก็ต
คุณหลวงนิตย์ฯ ท่านยับยั้งไว้ให้ลาพักอีกหนึ่งเดือน
คุณหลวงสนั่น ฯ ก็กำชับว่าให้ลองพิสูจน์ดูว่าเป็นอย่างที่ คุณหลวงสุวิขานฯบอกหรือไม่ ?
ผมพักรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ร่วมสองเดือนจึงเดินทางกลับภูเก็ตด้วยความยินดีของเพื่อนฝูงที่นั่น
 
พิสูจน์คำพูด
เมื่อคุณหมออาจินต์กลับไปปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลภูเก็ตแล้ว อยู่มาวันหนึ่งคุณหมอก็ว่าจ้างคนงานภายนอกมาสามสี่คนให้ทำการรื้อปูนซีเมนต์ที่จอดรถออกแล้วสั่งให้ขุดดินกว้างวายาวสองวา ลึกสองวา ตามที่คุณหลวงสุวิชานฯพูด
แต่วันแรกผิดหวัง ไม่พบอะไร ทั้งพนักงานโรงพยาบาลเกิดสงสัยว่า คุณหมอหายป่วยคราวนี้คงสติไม่สมบูรณ์ อยู่ ๆ เทปูนเสร็จเรียบร้อยไม่กี่เดือนกลับมาสั่งรื้อสั่งขุด คุณหมอก็บอกให้ทุกคนเฉยๆ ไว้ก่อน คุณหมอต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง
รุ่งขึ้นคนงานมาลงมือขุดต่อไปอีก เอาดินออกมากองไว้นอกชายคาบ้านเป็นกองใหญ่ ประเดี๋ยวเดียวก็มีเสียงร้องขึ้นมาว่า
“พบแล้วครับ! พบแล้วครับ!
คุณหมอถามว่า “พบอะไร” ในใจนึกว่ากะโหลกผีหรือกระดูกต่าง ๆ
ปรากฏว่าไม่ใช่ ! แต่เป็น กำไลหยกข้อมือแบบที่คนจีนสวม !
คุณหมออาจินต์บอกว่า
“เมื่อเขาล้างสะอาดแล้ว ผมมองดู เป็นหยกจริงๆ ! สีเขียว ไม่แก่นัก ก็เอาใส่พานไว้ คนงานก็ขุดต่อไป
ทีนี้พวกโรงพยาบาลทราบเรื่องก็มาเป็นไทยมุง มุงกันแน่นก็กลัวๆ กล้าๆ ทั้งนั้น เดี๋ยวเดียวก็ได้มาอีกชิ้นหนึ่ง คือ ฟันทองคำหนึ่งซี่ และสุดท้ายก็คือ หวีเงินโค้ง ๆ ที่ใช้เสียบผมมวย!
เขาพยายามอยู่จนค่ำก็ได้แค่นั้น ก็เป็นอันยุติ ผมขอให้ขนดินกลับมาถมไว้ที่เดิม แล้วต่อไปก็จะหาทรายมาเสริมและเทปูนอย่างเก่าอีก
ตอนนี้พวกที่โรงพยาบาลวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ ผมก็ต้องเล่าความจริงให้ฟังทั้งหมด
ต่อมาผมสร้างศาลเล็ก ๆ หนึ่งศาล เอา กำไล หวี และฟันทอง รวมกันไว้แล้วเอาไปไว้ในศาลนิมนต์พระมารับสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เป็นเจ้าของ
ทุกวันนี้ศาลนั้นก็ยังอยู่มุมรั้วด้านขวาสุด และเหนือสุดของโรงพยาบาลใกล้ๆ กับบ้านพักแพทย์ลักษณะเหมือนศาลพระภูมิ
แต่พูดก็พูดเถิดบางอย่างมันพิสูจน์ไม่ได้ มันเป็น “ปัจจัตตังเวทิตัพโพ”
ผมก็ยังข้องใจจนบัดนี้ว่า
คุณหลวงสุวิขานฯ ท่านทราบได้อย่างไร ว่าที่ที่สร้างโรงพยาบาลอยู่นี้คือ ฮวงซุ้ยเก่า ซึ่งฝังศพจนไม่มีที่จะฝังต่อไปอีกแล้ว !
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------